นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง นายสุวิทัต วงศ์วิเชียร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สายการพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน AOT เข้าร่วมการประชุมเจรจาธุรกิจการบิน “The 29th World Route Development Forum” (Route World 2024) ในเดือนตุลาคม 2567 ณ Bahrain International Exhibition & Convention Centre เมืองมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน
การประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จากสายการบิน ท่าอากาศยาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวจากทั่วโลกมากกว่า 730 หน่วยงาน ซึ่ง AOT ได้เข้าร่วมการประชุมฯ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ที่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) เพิ่มเส้นทางบินใหม่ รวมทั้งเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินเดิมมายังท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล
โดย AOT ได้ทำการตลาดเชิงรุกผ่านการเจรจาธุรกิจร่วมกับสายการบินต่างๆ เช่น สายการบินอินดิโก ประเทศอินเดีย สายการบินสกู๊ต สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสายการบินแอร์เอเชียแคมโบเดีย ประเทศกัมพูชา รวมทั้งให้ข้อมูลเส้นทางบินที่มีศักยภาพเพื่อเชิญชวนให้สนใจเปิดเส้นทางบินใหม่ นอกจากนี้ ยังได้เจรจาธุรกิจร่วมกับท่าอากาศยานเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อเส้นทางบินกับท่าอากาศยานของ AOT เช่น ท่าอากาศยานลอนดอน ฮีทโธรว์ ท่าอากาศยานอิสตัลบูล และท่าอากาศยานเวียนนา อีกทั้งยังได้นำเสนอและติดตามรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางการบิน (Air Service Development (ASD) Feasibility Study Report) ระหว่างท่าอากาศยานของ AOT และท่าอากาศยานต่างประเทศ โครงการสนับสนุนการตลาดเพื่อเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (Marketing Fund) เพื่อเป็นการดึงดูดสายการบินให้สนใจเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมายังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ เพิ่มขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้แทนสายการบิน ได้แก่ ไห่หนานแอร์ไลน์ เวียดนามแอร์ไลน์ และจุนเหยาแอร์ไลน์ รวมทั้งยังได้มีโอกาสขยายตลาดให้กับท่าอากาศยานเชียงใหม่
ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักในภาคเหนือของ AOT ให้เป็นที่รู้จักของสายการบินมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ การเข้าร่วมงานฯ เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ที่ดีตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศไทย ส่งผลให้มีการค้าและการลงทุน การสร้างงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงและยั่งยืน