สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในขณะเดียวกัน กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปในความควบคุมดูแล จำนวนรวมทั้งสิ้น 7,703 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มกราคม 2567) โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังสูงอายุชาย 6,478 คน และผู้ต้องขังสูงอายุหญิง 1,225 คน ซึ่งทุกรายได้รับการดูแลสุขภาพพื้นฐานและมีบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุตามแนวทางของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งมีการประเมินการดำเนินกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุด้วยแบบประเมินกิจวัตรประจำวัน ดัชนีบารเธล เอดีแอล (Barthel Activities of Daily Living : ADL) เพื่อวัดความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน คะแนนยิ่งมาก แสดงถึงสามารถช่วยเหลือตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวันได้มาก โดยแบ่งกลุ่มคะแนนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มติดสังคม (ช่วยเหลือตัวเองได้ และ/หรือ ช่วยเหลือผู้อื่น ชุมชน และสังคมได้) กลุ่มติดบ้าน (ช่วยเหลือและดูแลตนเองได้บ้าง) และกลุ่มติดเตียง (ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) ซึ่งการประเมินเกิดได้ทุกระยะของการดูแล
จากการประเมินการดำเนินกิจวัตรประจำวันของผู้ต้องขังสูงอายุทั้งหมด พบว่า เป็นกลุ่มติดสังคม 7,621 คน กลุ่มติดบ้าน 58 คนและกลุ่มติดเตียง 24 คน โดยผู้ต้องขังสูงอายุทุกรายมีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (care plan) ซึ่งมีข้อมูลสุขภาพเบื้องต้น ประเด็นปัญหาและความต้องการในการดำรงชีวิต และแนวทางการให้ความช่วยเหลือโดยรวม สำหรับผู้ต้องขังสูงอายุกลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียงจะมีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเพื่อรองรับการดูแลในระยะยาว (long term care) เพิ่มเติม ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรม ความถี่และกำหนดวันในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ได้พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) และการพัฒนาศักยภาพผู้ต้องขังที่ขึ้นทะเบียนเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำแล้ว คัดเลือกเข้าอบรมเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ซึ่งปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 141 คน และ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 138 คน (จากเรือนจำนำร่อง 7 แห่ง) นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำกลางบางขวาง ได้เปิดศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้ต้องขังสูงอายุ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ต้องขังสูงอายุ ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสมรรถภาพ การดูแลในระยะยาว จนถึงการดูแลระยะสุดท้าย กรมราชทัณฑ์ให้ความสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ต้องขังทุกกลุ่มวัย